ตัดสูทอย่างไรไม่ให้พลาด: โจทย์ 3 ข้อที่ต้องตอบให้ได้ก่อนสั่งตัดสูท - สูทที่มี ‘Canvas’ คุ้มราคาจริงๆหรือไม่? (2/3)

IMG_8244_label.jpg

ในพาร์ทก่อนหน้านี้เราได้พูดคุยกันถึงโอกาสในการใช้งานและวิธีการเลือกผ้ากันโดยคร่าวๆไปแล้ว ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่เป็นรองใคร นั่นก็คือ โครงสร้างของสูท

สูทในปัจจุบันมี 3 รูปแบบโครงสร้างหลัก ได้แก่ สูทอัดกาวหรือสูท Fused ตามมาด้วยสูท Half Canvas และสุดท้ายที่สูท Full Canvas 

ข้อแตกต่างระหว่างสามแบบนี้ที่เห็นได้ชัดคือราคา โดยสูทอัดกาวมีราคาถูกที่สุดไล่ไปจนถึงสูท Full Canvas ที่เราต้องบวกราคาเพิ่มเข้าไปสูงที่สุด ถ้าให้ผมสรุปสั้นๆแบบเวอร์ชั่นขี้เกียจอ่านก็คือ หาก Budget ที่ตั้งไว้สำหรับตัดสูทอยู่ภายในงบที่เราสามารถจะตัด Full Canvas ได้ ผมแนะนำว่าเอาแบบ Full Canvas เลยครับ

IMG_8329 copy_label.jpg

โครงสร้างแต่ละแบบมันต่างกันยังไง?

สิ่งที่เรียกว่าโครงสร้าง (Interlining) คือ “วัสดุที่สอดไส้” อยู่ภายในตัวแจ็คเก็ต เป็นตัวที่ทำให้แจ็คเก็ตมีทรงเป็นโครงสร้างขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นโครงกระดูกของแจ็คเก็ตนั่นเอง ไอ้เจ้า Canvas คือสิ่งที่ทำให้แจ็คเก็ตมีรูปทรงที่อยู่ตัวเมื่อตัดเย็บออกมาแล้ว เกิดเป็นทรงไหล่ อก เอว และสะโพกเพื่อให้เกิด Drape หรือการทิ้งตัวของผ้าที่สวยงามโดยช่วยให้ผ้าเกิดรอยยับน้อยที่สุด ตัวโครงสร้างนี้จะซ่อนอยู่ภายในระหว่างผ้าของตัวแจ็คเก็ตกับ Lining ด้านในบริเวณ “ชิ้นแผ่นหน้าของแจ็คเก็ต” เกือบทั้งหมด

หากไม่มีการสร้างชั้น Interlining นี้ขึ้นมา ช่างก็จะไม่สามารถล็อคผ้าให้มีการโค้งเว้าให้เข้ารับกับสัดส่วนของผู้สวมใส่ได้โดยที่ผ้าไม่ยับไปซะก่อน

โครงสร้างแบบ Fuse เป็นวิธีขึ้นโครงสร้างโดยใช้การติดกาวตัวแผ่นโครงสร้างเข้ากับเนื้อผ้าของสูทโดยใช้ความร้อนอัดเข้าไป เราจึงเรียกสูทประเภทนี้ว่า “สูทอัดกาว” ขณะที่โครงสร้างแบบ Canvas จะเป็นการขึ้นโครงสร้างโดยการเย็บแผ่น “หางม้า” ขึ้นเป็นโครงสร้างภายใน ส่วน Half Canvas คือการผสมผสานการการใช้ Canvas เข้ากับเทิคนิคการอัดกาว โดยบริเวณตั้งแต่กระดุมเม็ดเอวขึ้นไปจะตัดเย็บด้วย Canvas และบริเวณช่วงล่างจากกระดุมเอวลงมาเป็นการอัดกาว สุดท้ายก็ยังมีแจ็คเก็ตอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีโครงสร้างอะไรภายในเลย เรียกว่า Unconstructed Jacket

บริเวณที่มีการ Fused หรืออัดกาวบริเวณสะโพกของ Half Canvas Jacket

บริเวณที่มีการ Fused หรืออัดกาวบริเวณสะโพกของ Half Canvas Jacket

โครงสร้างแบบอัดกาวหรือ Fuse

การ Fuse เป็นการขึ้นโครงสร้างด้วยเทคนิคการอัดกาวผสมกับการใช้ความร้อนเพื่อให้เกิดเป็นชั้นโครงวร้างภายในที่มีความแข็งแรงพอที่จะทำให้ผ้าเกิดเป็นรูปทรงได้ แจ็คเก็ตที่ขึ้นมาแบบ Fuse เมื่อใส่แล้วจะรู้สึกร้อนและทึบกว่าแบบ Canvas เนื่องด้วยลักษณะของการอัดกาวที่จะไปฉาบตัวผ้าและ Interlining เพื่อให้ติดกัน การ Fuse ปิดด้วยกาวเป็นฉนวนกันความร้อนชั้นดีที่ทำให้อากาศไม่เกิดการถ่ายเท ถึงแม้ตัวผ้าที่เราเลือกใช้ตัดแจ็คเก็ตจะถ่ายเทอากาศได้ดีก็ตาม

หากท่านผู้อ่านเคยซื้อหรือลองสูทที่เป็นสูทอัดกาวก็จะพบว่ามันร้อนและหนักอย่างบอกไม่ถูก ฉะนั้นถึงแม้เราจะเลือกผ้าดีผ้าแพงมาตัดสูท แต่เมื่อผ้าโดนปิดด้วยกาวและอัดด้วยความร้อนก็จะทำให้คุณสมบัติเทพๆทั้งหลายของผ้าหายวับไปกับตา

นอกจากนั้น การที่ผ้าโดนอัดกาวเข้าไปด้วยความร้อนยังจะไปเป็นการเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของผ้าอย่างมหาศาล จากลักษณะของผ้าที่ควรจะพลิ้ว ทิ้งตัวสวยๆ กลับโดนกาวล็อคไว้เพราะอาการของความเป็น “ผ้า” จริงๆมันหายไปค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นผ้าที่ควรจะมีความยับบ้างอย่าง Wool-Silk-Linen กลับโดนกาวอัดจนเรียบเนียนกริบ ลุคของสูทที่ออกมาจึงจะดูค่อนข้างแข็งและทื่อเหมือนกับเป็นการฝืนธรรมชาติของผ้าในแบบที่ไม่ควรจะเป็นจากการโดนกาวล็อคผ้าไว้เพื่อสร้างให้เกิดเป็นรูปทรง 

อาการผ้าเป็นฟองปูดที่บ่งบอกถึงการเสื่อมสภาพของสูทอัดกาวใน Vintage Dior Suit รูปภาพจาก poshmark

อาการผ้าเป็นฟองปูดที่บ่งบอกถึงการเสื่อมสภาพของสูทอัดกาวใน Vintage Dior Suit รูปภาพจาก poshmark

ไหนๆก็เสียเงินตัดสูททั้งทีแล้วน่ะเนอะ อายุการใช้งานของสูทก็เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา เราทุกๆคนคงอยากได้สูทที่อยู่กับเราไปนานๆ แต่สูทอัดกาวมักจะมีอายุการใช้งานที่ไม่ได้นานมากนักจากคุณสมบัติและลักษณะของโครงสร้างที่มาจาก “การอัดกาว“ เมื่อเราใช้งานไปซักระยะเวลาหนึ่งอาจสามารถเกิดอาการที่เรียกว่า Delamination หรือชั้นกาวแยกตัวออกมาจากชั้นผ้าเพราะกาวเสื่อม เกิดเป็นฟองคล้ายๆฟองอากาศกระจายอยู่ตามบริเวณที่กาวเสื่อมคล้ายๆรถยนต์เก่าที่สีปูดเป็นฟองตามชิ้นพาร์ทต่างๆเพราะแลคเกอร์หมดอายุ

อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเสื่อมสภาพที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือถ้าแก้ไขได้ก็คงไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายเพราะต้องรื้อสูทออกมาทำใหม่ทั้งหมด ดังนั้นหากสูทของเรามีอาการแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ทำได้คือใช้ต่อไปหรือไม่ก็แขวนทิ้งไว้ในตู้สถานเดียวเลยครับ

นอกจากนั้น สูทอัดกาวยังเป็นสูทที่อาจจะเรียกได้ว่า “กลัวการ Dry Clean“ เพราะการนำสูทไปซักแห้งจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้กาวเสื่อมสภาพเร็วขึ้นอีกด้วย

ข้อดีของสูทอัดกาวคือ ราคาถูก สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้เวลาผลิตไม่นาน ช่างทำงานได้รวดเร็ว และไม่ต้องอาศัยฝีมือของช่างมากนัก แต่ข้อเสียก็เหมือนกับที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าสูทเป็นสูทอัดกาว สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ง่ายๆคือ ลักษณะการม้วนตัวของปก โดยสูทอัดกาวจะมีปกที่แบนเรียบแปล้ติดไปกับตัวแจ็คเก็ต ไม่มีการม้วนตัวของปกจากบริเวณปกคอลงมาถึงกระดุมเอวให้เห็นเพราะเป็นคาแรคเตอร์หนึ่งของการขึ้นโครงสร้างด้วยการเย็บมือ ดังนั้นการม้วนตัวของปกเป็นสิ่งที่เราจะเจอได้ในโครงสร้างแบบ Half Canvas และ Full Canvas เท่านั้น

อาการที่ว่าใส่สูทแล้วร้อน ทึบ อึดอัด หรือไม่สบายตัวจะหายไปหากท่านผู้อ่านได้ลองใส่สูท Full Canvas

Full Canvas Jacket ผ้า High Twisted Wool ในเล่มผ้า Fox Air สี Dark Brown โดย The Primary Haus

Full Canvas Jacket ผ้า High Twisted Wool ในเล่มผ้า Fox Air สี Dark Brown โดย The Primary Haus

โครงสร้างแบบ Full Canvas

“Canvas” เป็นวัสดุที่มักจะทำมาจากหางม้าหรือ Horsehair ที่มักจะถูกทอผสมกับ Wool หรือ Cotton (แม้กระทั่ง Camel Hair) รวมไปถึงผู้ผลิตบางเจ้าอาจผลิต Canvas จากวัสดุสังเคราะห์ ลักษณะของ Canvas จะขายเป็นผืนใหญ่คล้ายผืนผ้าทั่วไป แต่จะมีความแข็งและมี Texture ที่ชัดกว่า

การเย็บด้วยหางม้าหรือ Canvas เป็นเทคนิควิธีดั้งเดิมที่ใช้ในการตัดสูทกันมาเนิ่นนาน เนื่องด้วยโครงสร้างของแจ็คเก็ตถูกขึ้นโครงสร้างโดยการเย็บมือ ไม่มีการใช้กาวปิดแบบ Fuse บวกกับวัสดุที่เป็นหางม้ามีความเบาและโปร่ง เมื่อนำมาขึ้นเป็นโครงสร้างภายในจึงยังคงทำให้แจ็คเก็ตถ่ายเทอากาศได้ดี

นอกจากนั้น ความมหัศจรรย์ของการตัดเย็บด้วย Canvas คือ สูทจะยิ่งสวยขึ้นเมื่อเราสวมใส่บ่อย ไม่เหมือนสูทอัดกาวที่ยิ่งใช้ยิ่งโทรม

โครงสร้างสีขาวเป็นแผ่น Canvas ใน Full Canvas Jacket บริเวณช่วงอก

โครงสร้างสีขาวเป็นแผ่น Canvas ใน Full Canvas Jacket บริเวณช่วงอก

การเย็บโครงสร้างด้วยแคนวาสไม่เหมือนกับการอัดกาวที่ไปล็อคผ้าไว้ให้เป็นทรง เพราะตัวแคนวาสนี้สามารถ “เปลี่ยนรูปทรงได้” เมื่อสูทโดนสวมใส่ไปในระยะเวลาหนึ่งจากเทคนิคเย็บแคนวาสเข้ากับตัวผ้าโดยที่ชั้นแคนวาสไม่ได้ถูกยึดติดไปกับเนื้อผ้าทั้งหมด ทำให้ดูเหมือนแคนวาสลอยอยู่แยกออกอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “Floating Canvas” ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคการเย็บด้วยมือ ดังนั้นเมื่อใส่สูท Full Canvas ไปเรื่อยๆเราจะรู้สึกได้ว่าสูทมันสามารถโค้งรับหรือเน้นสัดส่วนบางจุดได้สวยขึ้นและเกิดการ Drape ที่ดูเป็นธรรมชาติ พูดง่ายๆคือเหมือนสูทมันมีความสามารถพิเศษที่จะปรับตัวให้รับกับร่างกายของผู้สวมใส่ได้ ต่างจากสูทอัดกาวที่วันแรกที่ซื้อกับปัจจุบันที่ใส่ก็จะยังคงมีทรงที่เหมือนเดิมทุกประการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณภาพของแคนวาสที่นำมาใช้ตัดแจ็คเก็ตสูทก็มีความสำคัญ หากเปรียบเทียบสูทที่ตัดด้วยผ้าตัวเดียวกัน การใช้แคนวาสที่คุณภาพสูงกว่าสามารถเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของสูทไปได้เหมือนสูทคนละตัวเลยทีเดียว สิ่งที่เราจะรู้สึกได้คือ แคนวาสที่ดีกว่าจะมีนำ้หนักเบากว่าและระบายอากาศได้ดีกว่าอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าให้ความรู้สึกของสูทที่เป็น Second-Skin โดยแท้จริงเลยครับ

ฉะนั้น สูทที่ใส่สบายแล้วไม่ร้อนมีอยู่จริงๆนะครับ โดยปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้สูทตัวนั้นเมื่อสวมใส่แล้วร้อนหรือไม่ร้อนก็คือ “โครงสร้างของสูท“ นี่เอง

สาเหตุที่เรียกว่า “Floating Canvas” เป็นเพราะชิ้นแคนวาสไม่ได้เย็บติดเข้าไปกับตัวผ้าทั้งหมด แต่จะลอยอยู่แยกเป็นอีกชั้นหนึ่งอย่างชัดเจน

สาเหตุที่เรียกว่า “Floating Canvas” เป็นเพราะชิ้นแคนวาสไม่ได้เย็บติดเข้าไปกับตัวผ้าทั้งหมด แต่จะลอยอยู่แยกเป็นอีกชั้นหนึ่งอย่างชัดเจน

นอกจากใส่แล้วสวยกว่าและใส่สบายกว่าแล้ว สูท Full Canvas ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ามาก เพราะโครงสร้างภายในเกิดขึ้นมาจากการถูกเย็บเข้าด้วยกันของด้ายและเข็มทั้งหมด ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอาการผ้าปูดเป็นฟองเหมือนสูทอัดกาว และหากสูทเราเสียหาย เช่น ไปเกี่ยวอะไรขาดเข้า ก็สามารถซ่อมหรือเปลี่ยนเฉพาะจุดหรือชิ้นผ้าได้

ข้อเสียเดียวของสูทที่เป็น Full Canvas คือราคาสูงกว่าสูทอัดกาวค่อนข้างเยอะเพราะใช้เวลาในการตัดเย็บนานกว่าและต้องอาศัยฝีมือช่างที่ชำนาญ

สำหรับท่านผู้อ่านที่ตั้งงบในการตัดสูทไม่ถึง Full Canvas ผมอยากแนะนำว่าลองหาสูทหรือแจ็คมือสองสภาพดีๆจากอิตาลีหรือญี่ปุ่นที่เป็น Full Canvas มาใส่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสูทอัดกาวทั้งตัวในราคาใกล้เคียงกัน เราจะได้ใส่ของดีในราคาที่ไม่แพงและคุณภาพดีกว่าสูทอัดกาวหลายเท่าเลย

วิธีการเช็คคร่าวๆว่าแจ็คเก็ตตัวนั้นเป็น Full Canvas หรือไม่ สามารถทำได้โดยเทคนิคที่เรียกว่า “หยิบแล้วถู” โดยเอานิ้วชี้กับนิ้วโป้งของเราไปคีบบริเวณชิ้นหน้าของตัวแจ็คเก็ตเหมือนกำลังจะหยิบชิ้นผ้าขึ้นมา แล้วเอานิ้วถูกันเบาๆตามบริเวณต่างๆบนตัวแจ็คเก็ต หากเรารู้สึกได้ว่าระหว่างชั้นผ้านั้นมีแผ่นอะไรสักอย่างอีกชั้นหนึ่งอยู่ตรงกลางด้านในระหว่างนิ้วตลอด แจ็คเก็ตก็น่าจะเป็น Full Canvas ครับ

แล้วโครงสร้างแบบ Half Canvas ล่ะ?

ฟังเผินๆดูเหมือนสูท Half Canvas จะเป็นตัวเลือกกึ่งกลางที่ฟังดูเข้าท่าที่สุดระหว่างราคาและคุณภาพ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆรึเปล่า

Sport Jacket โครงสร้างแบบ Half Canvas โดย Spier & Mackay

Sport Jacket โครงสร้างแบบ Half Canvas โดย Spier & Mackay

โครงสร้างแบบ Half Canvas

อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นว่า การขึ้นโครงสร้างแบบ Half Canvas คือการผสมผสานการการใช้ Canvas เข้ากับเทคนิคการอัดกาว โดยบริเวณตั้งแต่กระดุมเม็ดเอวขึ้นไปจะตัดเย็บด้วย Canvas นั่นก็คือช่วงอกและช่วงปกทั้งหมด ส่วนบริเวณช่วงล่างจากกระดุมเอวลงมาเป็นการอัดกาว ราคาจะสูงกว่าสูทอัดกาวแต่ก็ไม่ถึงสูท Full Canvas เพราะได้ Canvas มาครึ่งตัว

เป็นความจริงที่ว่า หากบริเวณอกและปกของแจ็คเก็ตได้โครงสร้างเป็นแคนวาส ก็จะช่วยทำให้เกิดการโค้งของปกหรือ Lapel Roll ได้อย่างดช้อยและช่วงอกสามารถให้ Drape ที่สวยงามได้ แต่ส่วนตัวผมมองว่าการเลือกสูทแบบ Half Canvas เป็นทางเลือกที่ “ไม่จบและไม่คุ้มเงินจริงๆแบบที่เราคิดไว้” ดูครึ่งๆกลางๆ จะบอกว่าราคาถูกมันก็ไม่ถูกกว่า Full Canvas สักทีเดียว คุณภาพจะดีมันก็พูดได้ไม่เต็มปาก 

สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนของแจ็คเก็ตที่เป็น Half Canvas จากหลายๆเจ้าและเป็นข้อเสียหลักเลย คือ “อาการของผ้าช่วงท่อนบนกับท่อนล่างของแจ็คเก็ตมันไม่เหมือนกัน” ทำให้อาการของผ้าเกิด Contrast ที่ต่างกันในแจ็คเก็ตหนึ่งตัว เพราะผ้าช่วงบนสามารถทิ้งตัวและยับได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะมีโครงสร้างเป็นแคนวาส แต่พอมองจากกระดุมเม็ดเอวลงมา ผ้ามันดูแข็งเป็นแผ่น ไม่รู้สึกถึงความพลิ้วไหวหรือยับที่เป็นธรรมชาติของผ้าเท่าไหร่ เป็น Silhouette ที่ดูแปลกและไม่ควรจะเกิดขึ้น

การม้วนตัวของปกที่ค่อยๆม้วนลงมาอย่างเป็นธรรมชาติ หรือ “Lapel Roll” เป็นสิ่งที่สูทอัดกาวไม่สามารถทำได้

การม้วนตัวของปกที่ค่อยๆม้วนลงมาอย่างเป็นธรรมชาติ หรือ “Lapel Roll” เป็นสิ่งที่สูทอัดกาวไม่สามารถทำได้

ถ้าเราพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นโครงสร้างแจ็คเก็ต หากต้องสั่งตัดสูทหนึ่งตัวจริงๆโดยไม่ดูสูทมือสองและสูท Ready-To-Wear จากต่างประเทศ ผมอยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งว่า “ถ้างบเราไม่ถึงสำหรับโครงสร้าง Full Canvas ให้ตัดเป็นสูทอัดกาวไปเลย” หรือหากท่านผู้อ่านคิดว่าการตัดสูทครั้งนี้คือนำไปใช้ยาวๆ อยากเสียเงินครั้งเดียวแล้วจบ ลองพิจารณาสูท Full Canvas ใหม่อีกครั้งแทนสูทอัดกาวก็เป็นตัวเลือกที่ผมแนะนำมากที่สุด

จริงอยู่ที่ว่าเราจะได้แคนวาสในบริเวณที่สำคัญ คือ ช่วงอกและช่วงปกที่จะให้การม้วนตัวของปกที่สวยงามมากกว่าสูทอัดกาว แต่ Half Canvas จะบอกว่าดีมันก็ไม่ได้พูดเต็มปาก จะจบก็ไม่จบ แถมต้องจ่ายเงินแพงกว่าเดิม นอกจากนั้นการทำ Half Canvas ยังทำให้เกิด Contrast ของผ้าบนตัวแจ็คเก็ตระหว่างท่อนบนและท่อนล่าง ซึ่งก็เป็นอะไรที่ผมคิดว่าไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องบวกเพิ่มเข้าไปเพื่อความครึ่งๆกลางๆ หากต้องเพิ่มเงินจากสูทอัดกาวไปแล้วผมก็ยังเชียร์ให้เอา Full Canvas ไปเลยมากกว่า

อาจจะมีท่านผู้อ่านบางท่านไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยก็ตาม ผมอยากจะเสนออีกมุมมองที่แตกต่างออกไป ซึ่งหากเราพิจารณาความคุ้มค่า คุณภาพ ราคา และการใช้งานระยะยาวทั้งหมดรวมกันแล้ว การที่เราต้องเพิ่มเงินจากสูทอัดกาวเพื่อไปเอา Full Canvas นั้นจบกว่าและคุ้มค่ามากกว่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เทคโนโลยีปัจจุบันสำหรับสูท Ready-To-Wear หลายๆเจ้าในต่างประเทศสามารถผลิตสูท Half Canvas ได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากในราคาที่จับต้องได้และถูกขึ้นเรื่อยๆ ผมต้องขออนุญาตเรียนตามตรงว่าถึงแม้จะเป็นสูท Ready-To-Wear แต่งานตัดเย็บและโครงสร้างดีกว่า Tailor ในไทยหลายๆเจ้าที่เป็นรูปแบบ Half Canvas ในราคาที่ไล่เลี่ยกัน หาก Budget ของเรายังจำกัดอยู่ที่สูท Half Canvas สูทจากต่างประเทศหลายเจ้า เช่น Spier & Mackay ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยครับถ้าฟิตติ้งเราได้

หากต้องการสูทที่วัดตัวสั่งตัดในไทยที่เป็น Half Canvas ผมอยากแนะนำให้ไปดูที่ Sprezzatura Eleganza เป็นร้าน Tailor อีกร้านในไทยที่นำเสนอ Option แบบ Half Canvas ด้วย แต่มีเทคนิคการ Fuse ที่เบา บาง และโปร่งในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่เหมือนการ Fuse หนาๆหนักๆแบบที่เรารู้จักกัน

Unconstructed Single Breasted Jacket โดย Orazio Luciano ผ้า Cotton สี Sky Blue

Unconstructed Single Breasted Jacket โดย Orazio Luciano ผ้า Cotton สี Sky Blue

สูทที่ไม่มีโครงสร้างภายในหรือ Unconstructed Jacket

ในส่วนของ Unconstructed Jacket เป็นแจ็คเก็ตที่ไม่มีการใส่ Canvas เข้าไปด้านในเลย ดังนั้นแจ็คเก็ตจึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโครงกระดูกที่ทำให้ผ้าอยู่ตัวเกิดเป็นทรงได้ ทำให้ผ้าทิ้งตัวและแนบไปกับตัวของเราตามสัดส่วนจริง จากลักษณะของแจ็คเก็ตประเภทนี้ทำให้ผ้าจะไม่สามารถทิ้งตัวให้ได้เนียนและสะอาดเท่ากับแจ็คเก็ตที่มีโครงสร้างเสริมภายใน ดังนั้นลุคที่ได้จาก Unconstrcuted Jacket จะดู Casual สูง ท่านผู้อ่านลองนึกถึง Overshirt ที่มีการตัดเย็บ Pattern เป็น Single หรือ Double Breasted ก็ได้ครับ จัดอยู่ในระดับความเป็นทางการที่ถึงแค่ Business Casual และไม่ควรสวมใส่ไปงานที่ Formal เราจะพบเจอกันได้ใน Suit หรือ Jacket ที่ Casual ดังนั้นผ้าสำหรับแจ็คเก็ตหรือสูทประเภทนี้จึงมักจะไม่ใช่ Wool แต่เป็น Linen หรือ Cotton ด้วยเช่นกัน

สำหรับท่านที่สนใจอยากได้แจ็คเก็ตที่สวมใส่ง่าย ใส่เป็น Odd Jacket สบายๆสำหรัยลุค Smart Casual ไปจนถึง Business Casual ใส่ไปที่ทำงานได้โดยไม่ได้ดูเป็นทางการแต่ก็ยังให้ความรู้สึกที่ Dress Up หรือใส่ผสมลุคในวันสบายๆได้โดยไม่ได้ดูแต่งตัวเยอะเกินไป การเลือก Unconstrcuted Jacket ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีและมีความหลากหลายมากๆครับ

ในพาร์ทต่อไปและเป็นพาร์ทสุดท้ายในซีรี่ย์นี้คือ การเลือกสไตล์และดีเทลของสูท ผมขออนุญาตยกไปคุยต่อกันในบทความถัดไปนะครับ

Previous
Previous

ถุงเท้า (Dress Sock) นั้นสำคัญไฉน?

Next
Next

ตัดสูทอย่างไรไม่ให้พลาด: โจทย์ 3 ข้อที่ต้องตอบให้ได้ก่อนสั่งตัดสูท - โอกาสการสวมใส่และการเลือกผ้า (1/3)