ตัดสูทอย่างไรไม่ให้พลาด: โจทย์ 3 ข้อที่ต้องตอบให้ได้ก่อนสั่งตัดสูท - โอกาสการสวมใส่และการเลือกผ้า (1/3)

DSC08073_label.jpg

การสั่งตัดสูท 1 ตัวดูเผินๆเหมือนจะสิ่งที่ไม่มีอะไรให้ปวดหัวยุ่งยาก ก็แค่ไปหาช่างเพื่อวัดตัว เลือกผ้า จ่ายเงิน แล้วก็รอรับสูทได้เลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จักรวาลของสิ่งที่เรียกว่า “แจ็คเก็ตและสูท” นั้นมีรายละเอียดอีกมากมายที่เรามองข้ามกันไป

การที่เรามีความเข้าใจในสูทเบื้องต้นจะสามารถช่วยให้เราเลือกสูทที่เหมาะกับตัวเราเองได้มากขึ้น หากเราลองศึกษาจนเข้าใจในดีเทลเล็กๆน้อยๆและ “รู้จักวิธีที่จะยกมันมาใช้กับตัวเรา” สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างและค้นหา Personal Style ของตัวเราเองได้เช่นกัน 

ท่านผู้อ่านน่าจะเคยมีความรู้สึกว่า “สูทที่สุภาพบุรุษทุกท่านมักจะมีติดตู้เสื้อผ้ากันอย่างสี Navy Blue ที่เราเห็นกันจนชินตา แต่ทำไมบางครั้งก็ได้เจอคนที่เค้าใส่แล้วดูดีเหลือเกินถึงแม้จะเป็นสี Navy Blue ที่เจอได้บ่อยๆนี้เหมือนกัน” ก็เพราะความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆนี่แหละที่จะช่วยพาเราไปสู่การสร้างลุคที่เป็นตัวเราจริงๆหรือที่เรียกกันว่า “ใส่จนเข้าเนื้อ” นี่แหละครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในบความนี้ผมจะไม่ได้พูดรวมไปถึง Tuxedo หรืองานเฉพาะทางที่ต้องการ Dress Code เป็น Black Tie หรือ White Tie นะครับ เราจะโฟกัสกันอยู่ในระดับความเป็นทางการที่ไม่เกิน Business Attire เท่านั้น

เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

IMG_2667 copy_label.jpg

1. แจ็คเก็ตหรือสูทที่จะตัดเอาไปใช้ในโอกาสไหน

โจทย์ข้อแรกเป็นโจทย์ที่เราต้องถามตัวเองให้มั่นใจและตอบให้ได้โดยที่ไม่ลังเล เพราะคำตอบจากโจทย์นี้จะเป็นตัวที่กำหนดตัวเลือกทุกๆอย่างหลังจากนี้ทั้งหมด

ประโยคที่ว่า “ตัดสูทตัวเดียวที่ใช้ไปได้ทุกงาน” ไม่มีอยู่จริง แต่สูทที่ใส่ได้ในหลากหลายโอกาสนั้นยังคงมีอยู่ 

การที่วันนึงเราจะหยิบสูทมาใส่ วันนั้นๆจะต้องมี “งาน สถานที่ และผู้คน” ที่แตกต่างกันไปให้เราไปพบและเจอะเจอ ดังนั้นคำว่ากาลเทศะจึงเข้ามามีส่วนสำคัญ เป็นความจริงที่ว่าคนเราไม่สามารถถูกตัดสินว่าเป็นคนดีหรือคนเลวได้จากการแต่งตัว แต่การใส่สูทให้เข้ากับบริบทที่เราจะไป นอกจากจะเป็นการให้เกียรติสถานที่และผู้คนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเป็นการแสดงถึง “การให้เกียรติตัวเราเอง” ด้วยการบอกเป็นนัยๆว่า “ผมรู้ว่าผมเป็นใครและรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่”

การตั้งโจทย์ให้ถูกและตัดสินใจเลือกให้เหมาะสม เราจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเพียงชุดหนึ่งให้กลายเป็นอาวุธที่มีอานุภาพสูงมาก เพราะมันสามารถบ่งบอกถึงตัวเราได้ในหลายๆแง่มุมโดยที่เรายังไม่ต้องปริปากพูดแม้แต่คำเดียว ดังนั้นโจทย์ 4 ข้อที่เราต้องทำการบ้านไปให้ดีและตอบให้ได้ก่อนจะไปหาช่างตัดสูท คือ “งานอะไร ไปที่ไหน เจอใครบ้าง และช่วงเวลาใด”

DSC01956_label.jpg

2. เลือกผ้าให้เข้ากับบริบท

ความเข้าใจเกี่ยวกับสีและตัวผ้าเป็นส่วนสำคัญอันดับต้นๆที่จะสามารถบ่งบอกถึง Personal Style ได้เป็นอย่างดี สำหรับคนปกติแบบเราๆที่ไม่ใช่ช่างตัดสูท การเรียนรู้และเข้าใจลักษณะของผ้าแต่ละชนิด รวมไปถึงผ้าที่มาจากแต่ละโรงทอเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการซึมซับค่อนข้างนาน ความยากคือเราไม่สามารถนั่งหาข้อมูลในเน็ตและอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจได้เอง แต่ต้องไปลองจับเนื้อผ้าในเล่มผ้าและเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยสวมใส่ผ้าบางประเภทมาก่อนจึงจะเริ่มเข้าใจได้จริงๆ

หากต้องแบ่งเป็นคอร์สในการทำความเข้าใจในจักรวาล Sartorial Menswear ผมอยากจะแบ่งให้ “Fabric Selection” หรือ “Textile” ออกมาเป็นอีกหนึ่งหมวดใหญ่เคียงคู่ไปกับรองเท้า กางเกง แจ็คเก็ต และสูทเลยครับ

อีกความน่าปวดหัวอย่างหนึ่งที่ท่านผู้อ่านอาจจะเคยเจอกันมาคือ เล่มผ้าที่ร้านตัดสูทแม่งมีโคตรเยอะ เยอะจนระดับที่ว่าถึงเราจะทำการบ้านก่อนที่จะไปสั่งตัดสูท เวลาไปถึงหน้างานอาจจะเกิดความรู้สึกว่าโดนเล่มผ้าถาโถมใส่จากตัวเลือกที่มีเป็นพันๆแบบ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากในการช่วยแก้ปัญหานี้ให้ชะงัดคือคือ 

  • ลองแจ็คเก็ตตัวลองที่ร้านสูท: หากร้านที่เราจะไปตัดสูทมีแจ็คเก็ตตัวจริงที่เป็นตัวลองที่ร้านหรือมีแจ็คเก็ตแบบ Ready-To-Wear แล้วเป็นผ้าที่มีสีหรือเนื้อผ้าใกล้เคียงกับผ้าตัวที่เราสนใจอยู่ จะช่วยทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเยอะมากเลยครับ เพราะเราจะเข้าใจภาพรวมของลุคทั้งหมดก็ต่อเมื่อลองสวมแจ็คเก็ตจริงๆ การได้ลองสวมแจ็คเก็ตจริงแล้วนำมาเปรียบเทียบกับสีหรือเนื้อผ้าในเล่มผ้าที่เราสนใจอยู่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นลุคทั้งตัวและกะประมาณลุคทั้งหมดได้ง่ายขึ้น หากนี่เป็นการตัดสูทครั้งแรกของเรา ภาพที่เราจินตนาการถึงลุคทั้งหมดโดยอิงกับสีในเล่มผ้าโดยเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่ภาพในหัวอาจจะพังไม่เป็นท่าได้เมื่อสูทจริงตัดออกมาเสร็จ

DSC02899_label.jpg
  • ขอยืมเพื่อนลอง: หากเพื่อนของเรามีสูทหรือแจ็คเก็ตในผ้าหรือสีที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกับผ้าที่เรากำลังสนใจอยากจะตัดสูทและไซส์ของตัวเพื่อนใกล้เคียงกับตัวเรา (ไม่จำเป็นต้องไซส์เดียวกันเป้ะก็ได้ครับ) ผมอยากแนะนำว่าไปขอยืมมันลองใส่ดูครับ ไม่ต้องถึงขนาดขอยืมไปใส่เป็นวันๆนะครับ ใส่สัก 10-20 นาที ลองเดินไปเดินมา เปลี่ยนท่า เปลี่ยนมุมแสง แล้วสำรวจดูว่านี่คือผ้าและสีที่เราชอบรึเปล่า การที่เราได้ลองสวมใส่แจ็คเก็ตจริงๆเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเทียบโทนสีของผ้าบนสีผิวของตัวเราเองว่าจะออกมาเหมือนที่คิดไว้มั้ย ชอบรึเปล่า ควรจะเข้มกว่านี้หรือ่อนกว่านี้ ผ้าเงาไปมั้ย สัมผัสและอาการของผ้าเป็นอย่างไร หรือชอบผ้าตัวนั้นจริงๆหรือไม่

  • ถ้าไม่มีความรู้และไม่แน่ใจเกี่ยวกับผ้าตัวนั้น อย่าเสี่ยงตัดกลางอากาศ: ขณะที่เลือกผ้าเราอาจจะไขว้เขวหรือเปลี่ยนใจจากผ้าเดิมที่ดูไว้ ด้วยสาเหตุที่เล่มผ้าตัวอย่างมีมากมายมหาศาล การเปิดเล่มผ้าจากแต่ละโรงทอมาเทียบกันเราอาจจะพบว่า เห้ย มีผ้าจากโรงทออื่นที่ราคาถูกกว่า สเป็คผ้า สี เนื้อสัมผัส น้ำหนัก หรือแม้กระทั่งการทอที่คล้ายๆกันแต่เราไม่รู้จักชื่อโรงทอนั้นเฉยๆ ถ้าจะเปลี่ยนใจจากผ้าที่ดูไว้มาเอาอีกโรงทอที่ราคาถูกกว่าก็น่าจะเป็นไอเดียที่ดี

    แต่ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับว่า ผ้าที่ดูคล้ายกันเมื่อเทียบในเล่มผ้าแต่มาจากต่างโรงทอ เมื่อตัดออกมาจริงๆแล้วอาการของผ้ามักจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ตอนจับๆกันเทียบดูจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างก็ตาม ดังนั้นหากไม่มั่นใจ ผมแนะนำว่าให้ยึดถือเอาโรงทอที่มีชื่อและได้รับการยอมรับไปทั่วโลกมากกว่าโรงทอที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ผมไม่ได้หมายความว่าต้องยึดติดแบรนด์นะครับ แต่เพราะโอกาสที่ตัดออกมาแล้วเราจะไม่พลาดจะมีต่ำกว่าค่อนข้างเยอะ และผ้าจากโรงทอที่มีชื่อเสียมีโอกาสที่ผ้าจะลุ่ย เปื่อย ย้วย หรือยุ่ยจากการใช้งานปกติน้อยกว่า ทำให้สูทอยู่กับเราไปได้นานกว่านั่นเองครับ

เลือกผ้าไม่ดี ตาวิเศษเห็นนะ!

เลือกผ้าไม่ดี ตาวิเศษเห็นนะ!

  • การดู Reference จาก Instagram หรือ Pinterest: สามารถช่วยให้เราประเมินลุคโดยรวมคร่าวๆได้ แต่ไม่ควรตัดสินใจ 100% โดยอิงจากรูปที่เราเห็น เพราะสีในรูปผ่านจอโทรศัพท์กับสีสูทที่เราเห็นทั้งชุดบนตัวเราเองจะแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ เนื่องด้วยหลายๆปัจจัยเช่น Skin Tone และสไตล์ของแต่ละคน รวมถึงการหา Reference ที่มีรหัสผ้าตรงกับผ้าที่เราสนใจจะค่อนข้างทำได้ยาก หากตัดเป็นสูทควรจะไปลองด้วยตัวของเราเองมากกว่าที่จะยึดถือจากรูปที่คนอื่นใส่บนมือถือ แต่ถ้าหากเป็น Casual Jacket หรือ Odd Jacket ที่มีสีผ้าหรือ Pattern เฉพาะตัวก็ยังพอที่จะสามารถมองๆเอาไว้เป็น Reference ได้

  • เอาที่ช่างว่าสวย เราบอกโทนสีที่อยากได้และงานที่ต้องไป แล้วให้ช่างแกจัดมาเลย: สุดท้ายหากไม่มีทางเลือกจริงๆ เราก็ต้องไว้ใจช่างแล้วล่ะครับ เพราะช่างมีประสบการณ์มากกว่าเราเยอะในแง่ของการมองผ้า ลองให้ช่างแกเสนอตัวเลือกมาสัก 3-4 โทนสีที่อยู่ในโทนที่เราอยากได้ แล้วเราเลือกสีที่ชอบที่สุดดู ก็จะช่วยกันพลาดได้มากกว่าเราไปตัดสินใจเลือกเองครับ

แล้วผ้าแบบไหนล่ะที่จะเหมาะ การเลือกผ้ามีหลายๆปัจจัยที่ควรรู้ ได้แก่

DSC08776 copy_label.jpg

ประเภทของผ้า

ผ้าที่ใช้ในการตัดสูทมีมากมายและจากหลากหลายตัวเลือกตั้งแต่ ผ้า Polyester, ผ้าผสมหรือผ้า Wool ผสม Polyester (Wool Blended), ผ้า Wool 100%, ผ้า Wool-Mohair , ผ้า Linen, ผ้า Silk, ผ้า Cotton, ผ้า Wool-Silk-Linen และอื่นๆอีกมาหมายซึ่งในแต่ละหมวดหมู่ก็จะมีผ้าที่ทอมาจากโรงทอแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วตัดสูทเราก็มักจะเลือกผ้า Wool กัน แต่ต้องเช็คให้แน่ใจก่อนว่าผ้าเป็น Polyester, Wool Blended หรือ Wool 100% และผ้าที่เราดูอยู่มาจากโรงทอใด

ถ้าพูดในมุมโดยกว้างๆแล้ว ผ้า Wool จะให้ความเป็นทางการสูงที่สุด รองลงมาด้วยผ้า Cotton และสุดท้ายที่ผ้า Linen จะให้ความ Casual ที่สูงที่สุด  

DSC00362_label.jpg

ลักษณะการทอผ้าและ Texture

นอกจากนั้น เทคนิคและชนิดของผ้าในการทอผ้าจากแต่ละโรงทอยังมีความแตกต่างกัน ถึงจะเป็นผ้า Wool เหมือนกันแต่ต่างประเภท เช่น ผ้า Wool Hopsack, Wool Gabardine, Wool High Twist, Wool Flannel ก็จะส่งผลต่อน้ำหนักของผ้า ความสามารถในการระบายอากาศ การทิ้งตัวของผ้า โดยทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ลุคและโอกาสในการใช้งานของสูทมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เราสามารถประเมินคร่าวๆได้ว่าผ้าที่จะนำมาตัดสูทจะใส่สบายหรือว่าใส่แล้วไม่ร้อน คือลองสังเกตลักษณะของการทอของผ้า ทำได้โดยนำผ้าในเล่มที่สนใจมาส่องกับแสงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟ เราจะสามารถเห็นความโปร่งแสงจากช่องที่แสงผ่านทะลุผ้ามา ผ้าที่มีการทอแบบ “Open Weave” หรือทอห่าง ผ้าที่ใส่แล้วร้อนหรือผ้า Fall/ Winter เช่น Flannel เมื่อนำไปส่องกับแสงแล้วจะไม่เห็นช่องแสงระหว่างเส้นใยผ้าเล็ดลอดออกมาได้เลยหรือมีความทึบแสงนั่นเองครับ 

ผ้า Hopsack หนึ่งในผ้า Wool ที่มีความ Open Weave สูง สามารถนำไปตัดเป็นแจ็คเก็ตที่ใช้งานได้หลากหลาย

ผ้า Hopsack หนึ่งในผ้า Wool ที่มีความ Open Weave สูง สามารถนำไปตัดเป็นแจ็คเก็ตที่ใช้งานได้หลากหลาย

ความสามารถในการระบายอากาศขึ้นอยุ่กับลักษณะของการทอมากกว่าน้ำหนักของตัวผ้า เราอาจจะเข้าใจว่าผ้ายิ่งหนักยิ่งใส่แล้วร้อน แต่จริงๆแล้วผ้าที่มีน้ำหนักสูงแต่ทอห่างจะใส่สบายกว่าผ้าที่เบาแต่ทอถี่หรือแน่นชัดเจนครับ ตัวอย่างเช่นผ้ากลุ่มที่เรียกว่าผ้า High Twist ที่มีน้ำหนักค่อนข้างสูงแต่ความรถระบายอากาศดีมากเพราะมีความ Open Weave 

ผ้าที่มีความเรียบเนียนมากกว่าหรือเห็น Texture ของผ้าไม่เยอะ ก็จะให้ความรู้สึกที่เป็นทางการสูงกว่าผ้าที่เห็น Texture ค่อนข้างชัดเช่นกันครับ

ความเงาและความด้านของผ้า

สองปัจจัยนี้ส่งผลต่อระดับของความเป็นทางการค่อนข้างสูง ผ้าที่ยิ่งมีความเงาหรือ High Sheen จะให้ความรู้สึกของความเป็นทางการและความรู้สึกของความเป็น “งานกลางคืน” มากกว่าผ้าที่มีความเงาน้อยกว่า และในทางกลับกันผ้าที่มีความเงาน้อยกว่าหรืออยู่ในฝั่งที่ผ้าดูเป็นผิวด้านจะให้ความรู้สึกของความเป็น “งานกลางวัน” และหยิบมาใช้งานได้ง่ายกว่า

ความเงาของผ้าที่แบ่งแยกความเป็นผ้ากลางวันและผ้ากลางคืนเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยได้สนใจมากนักในตอนแรก หลังจากได้ศึกษาเรื่องผ้าไปเรื่อยๆผมจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเช่นกัน

หากผมหยิบสูทที่มีพื้นผิวผ้าค่อนข้างเงามาใส่ในตอนกลางวัน ผมจะแอบรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดงานตลอดเวลา อารมณ์เหมือนพึ่งออกจากการถ่ายรายการอะไรสักอย่าง หรือไม่ก็รู้สึกเหมือนเจ้าบ่าวที่หนีออกจากงานแต่งงานตัวเองมายังไงยังงั้น ผมก็อธิบายไม่ถูกแต่ความรู้สึกคือ เมื่อผ้าบนสูทโดนแสงอาทิตย์จะทำให้เกิดความวิบวับจนดูเหมือนว่า “สูทมันดูเด่นและดูเยอะเกินหน้าเกินตาคนใส่” ไปสักหน่อย 

แต่ความเงาของผ้าที่ว่า เมื่ออยู่ในช่วงเวลากลางคืนที่แสงสว่างน้อยกลับทำให้ตัวเราไม่จมหายไปกับบรรยากาศรอบข้างและดูโดดออกมาได้ชัดกว่า จึงเป็นเหตุผลที่ความเงาของผ้านั้นส่งผลต่อ “โอกาสในการใช้งาน” สูงเลยทีเดียวครับ เวลาตัดสูทกับช่าง หากเป็นช่างที่ใส่ใจในรายละเอียดจะทักเราก่อนว่าสูทตัวนี้ตัดไปใส่งานกลางวันหรือกลางคืน ก็ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี่เอง

ไม่ว่าจะเป็นแจ็คเก็ตหรือกางเกง ผ้าที่มีความเงาไม่เยอะหรือค่อนไปทางด้านจะสามารถหยิบมาใส่ได้หลากหลายมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นแจ็คเก็ตหรือกางเกง ผ้าที่มีความเงาไม่เยอะหรือค่อนไปทางด้านจะสามารถหยิบมาใส่ได้หลากหลายมากกว่า

ดังนั้นสูทหรือแจ็คเก็ตที่ใส่ได้ง่ายกว่าจึงมักจะมีเนื้อผ้าที่อยู่ใน Range ไม่เงามาก โดยเฉพาะหากเราต้องการตัด Odd Jacket ไม่ควรจะเลือกผ้าที่มีความเงาสูงสักเท่าไหร่ เพราะจะนำไป Match ได้ยาก รวมทั้งสูทที่มีผ้าผิวด้านยังสามารถนำมันมาจับใส่แยกระหว่างตัวแจ็คเก็ตและกางเกงได้ง่ายกว่าด้วย สูทที่ตัดด้วยผ้าที่มีความเงาจะนำมาใส่ “แยกชิ้น” เป็น Odd Jacket ได้ค่อนข้างยาก เพราะดูแล้วจะรู้ได้ทันทีว่ากางเกงและแจ็คเก็ตชุดนั้นไปด้วยกันไม่ได้จาก Contrast ของความเงาที่แตกต่างกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราต้องการสูทที่มีความเป็นทางการสูง ผ้า High Twist บางตัวอาจจะไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องย้ายไปดูผ้า Wool ที่ทอเป็น Plain Weave จะให้ Texture เรียบและสมูทกว่า ซึ่งผมก็แนะนำเป็นผ้า Wool-Mohair เพราะให้ความเงาที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวซึ่งเราสามารถหยิบมาใส่ได้หลากหลายโอกาส ยิ่งเปอร์เซ็นต์ของ Mohair สูงยิ่งมีความเงาที่เยอะมากขึ้น ตรงจุดนี้ก็ต้องถามตัวเองดูก่อนครับว่าจะนำสูทตัวนี้ไปใช้ในงานกลางวันหรือกลางคืน

น้ำหนัก

เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อ “ความสามารถในการทิ้งตัวของผ้า” โดยทั่วไปผ้าที่มีน้ำหนักสูงกว่าจะให้การทิ้งตัวของผ้าที่เนียนและสะอาดตากว่าผ้าที่มีน้ำหนักไม่เยอะเท่า เช่นน้ำหนักผ้าที่ประมาณ 210 g/m อาจจะไม่เหมาะในการนำมาตัดสูท ด้วยเหตุผลที่ว่าผ้าอาจจะเกิดการยับง่ายกว่าและทิ้งตัวเพื่อสร้าง Drape บนตัวเราได้ไม่สวยเท่ากับผ้าที่มีน้ำหนักสูง อาการจะเห็นได้ชัดเจนในกางเกงในชุดสูทที่ตัดจากผ้าที่น้ำหนักไม่เยอะ โดยกางเกงจะยับง่ายและดูไม่พริ้วเท่ากับผ้าที่น้ำหนักสูงกว่า แต่น้ำหนักของผ้าไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับความสามารถในการระบายอากาศมากเท่ากับลักษณะการทอของผ้าที่มีความ Open Weave หรือไม่แบบที่ได้กล่าวไปข้างต้น

DSC08750_label.jpg

สี

ระดับความเป็นทางการของสูทจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสว่างของสีเป็นสำคัญเช่นกัน สีที่เข้มกว่าจะให้ความรู้สึกเป็นทางการที่มากกว่าสีที่อ่อนลงมา พูดง่ายๆคือสียิ่งสว่างยิ่ง Casual นั่นเองครับ

สีที่เป็นสีสำคัญและควรจะมีอยู่ในตู้เสื้อผ้าของสุภาพบุรุษทุกๆท่านคือ สีกรมท่า (Navy Blue) หรือสีเทาเข้มครับ ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า แล้วสูทสีดำล่ะ? ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับสูทสีดำไว้แล้วว่าทำไมสูทสีดำจึงเป็นสีสูทที่ถูก Overrated มากที่สุดและ “ยังไม่ควรตัดเป็นตัวแรกๆ” สามารถไปตามอ่านกันต่อได้ที่นี่เลยครับ

ดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายเลยครับ ผ้าที่เลือกยากที่สุดสำหรับผมคือผ้าเฉดสีกรมท่าและโทนสีเทา จากที่ผมได้พูดคุยกับหลายๆท่านมา สองสีนี้เป็นสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแต่ก็เป็นสีที่เราตัดสินใจเลือกได้พลาดกันบ่อยที่สุดเหมือนกัน เพราะสีที่อ่อนหรือเข้มขึ้นเพียงเฉดเดียวของสองสีนี้สามารถเปลี่ยนลุคของสูททั้งตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยครับ โดยเฉพาะสีน้ำเงินเข้ม ต้องเน้นคำว่า “เข้ม” นะครับเพราะบางท่านอาจจะสับสนระหว่าง Navy Blue กับ Solid Blue ซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึก Casual มากกว่า หากจะต้องหยิบสูทสีนี้ใส่ไปงานที่ Formal อาจจะต้องระมัดระวังสักหน่อย

ผมคิดว่าสี Solid Blue หากตัดเป็นสูทจะใส่ค่อนข้างยาก ส่วนตัวผมจะไม่หยิบสีนี้ไปใส่ในงาน Business Formal เพราะสว่างเกินไป และหากต้องไปในงานที่เป็น Business Casual ผมจะเลือกหยิบ Odd Jacket มาใส่แทน

แจ็คเก็ตสี Navy Blue ผ้า Loro Piana เป็น Wool 100% โดย Mariano Rubinacci

แจ็คเก็ตสี Navy Blue ผ้า Loro Piana เป็น Wool 100% โดย Mariano Rubinacci

ทริคในการกระประมาณความสว่างของสีขณะที่เราเลือกผ้าจากเล่มผ้าคือ

  • สีของสูทที่ตัดเสร็จจะดู “สว่างขึ้นเล็กน้อย” เมื่อเทียบกับความสว่างของผ้าในเล่มที่เราคิดไว้ ตัวอย่างเช่น หากเราเลือกตัดสูทสีเทา เวลาเราเลือกความสว่างเรามักจะเลือกเอาโทืนสีเทาที่เราคิดว่า “สว่างพอดี” จากเล่มผ้ากันมาเลย แต่พอตัดออกมาเสร็จเรามักจะมีความรู้สึกว่า สีมันสว่างกว่าที่คิดไว้ตอนแรกประมาณหนึ่งเลย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สูทสี Navy Blue หรือสีเทาเป็นสองสีที่ตัดออกมาแล้วมักจะสว่างเกินไป การคิดเผื่อความสว่างสัก 1-2 เฉดจากเล่มผ้าจะช่วยให้สูทที่ตัดเสร็จมีความสว่างที่เหมือนกับที่เราคิดไว้มากกว่าครับ

  • วันที่ไปตัดสูทหรือแจ็คเก็ต ให้ใส่เสื้อเชิ้ตที่คิดว่าจะได้ใส่กับสูทที่จะตัดไปด้วย (Safe สุดควรจะเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาวธรรมดาครับ) เมื่อเปิดดูเล่มผ้าแล้วหากเป็น Bunch ที่มีตัวอย่างผ้าผืนใหญ่พอ ให้หยิบเอาผ้าชิ้นที่สนใจมาทาบกับผิวที่แขน (ปกติจะทาบบริเวณข้อมือ) และสีของเสื้อเชิ้ตกับกางเกงเพื่อเช็คความสว่างและดูว่าสีผ้าเข้ากับเรารึเปล่า

DSC05746 copy_label.jpg
  • อย่าดูผ้าภายใต้แสงไฟที่ร้านนะครับ ต้องเอาออกไปดูกับแสงแดดเท่านั้น ฉะนั้นวันที่เราไปเลือกผ้าที่ร้านควรจะไปในช่วงเวลากลางวันที่ยังมีแสงแดดอยู่ หลังจากที่พูดคุยกับช่างจากหลายๆที่แล้วผมก็พบว่า ปัญหาหนึ่งคือ หลายๆท่านตัดสินใจเลือกผ้าสีอ่อนเกินไป พอตัดจริงสีของผ้าที่ตัดออกมาทั้งตัวจะดูอ่อนลงไประดับหนึ่งเพราะไม่ได้ดูกับแสงแดด จะเจอได้บ่อยมากๆกับสีโทน Navy Blue และสีเทาทั้งหลาย ก็เพราะไฟในร้านไม่ได้สว่างพอที่จะแสดงให้เห็นถึงสีจริงของผ้า และหากบางร้านจัดไฟที่ไม่เป็นสีขาวที่มี White Balance เหมือนกับอุณหภูมิแสงแดด โอกาสหลังจากตัดเสร็จมาสีอาจจะเพี้ยนจากภาพที่เราวาดไว้ เช่น สีเทาอ่อนที่ควรจะเป็นเทากลาง ตัดออกมากลายเป็นเทาอมเหลือง เป็นต้น

โดยส่วนตัวผมชอบผ้าที่เรียกว่า High Twist Wool สำหรับการตัดสูทหรือแจ็คเก็ตมาก เพราะสามารถนำมาใส่ได้ง่ายและใส่ได้หลากหลาย ด้วยลักษณะของการทอผ้าที่เป็น High Twist ทำให้ผ้าโปร่งเป็น Open Weave จึงใส่แล้วไม่อับ ไม่ร้อนโดยมี Texture ของผ้าที่ชัดเจน ไม่ค่อยเงา และน้ำหนักผ้าอยู่ในช่วงที่กำลังเหมาะสมในการตัดสูทให้เกิดการทิ้งตัวที่สวยงาม ผมมี Shortcut Guide สำหรับผ้า High Twist ดังนี้ครับ

  • ผ้า Fresco โดย Huddersfield ใน Bunch ชื่อ Fresco III

  • ผ้า Finmeresco 4/ 3-Ply โดย Smith Woollens ใน Bunch ชื่อ Finmeresco

  • ผ้า Ascot 4-Ply โดย Drapers ใน Bunch ชื่อ Ascot Two, Four & Six Ply

  • ผ้า Fox Air โดยน Fox Brothers ใน Bunch ชื่อ Fox Air

  • ผ้า Crispaire โดย Holland & Sherry ใน Bunch ชื่อ Crispaire

  • ผ้า Tonik Wool โดย Dormeuil ใน Bunch ชื่อ Tonik Wool

ในพาร์ทต่อไป ข้อที่สาม: การเลือกสไตล์และดีเทลของสูท ผมขออนุญาตยกไปคุยต่อกันในบทความถัดไปนะครับ

Previous
Previous

ตัดสูทอย่างไรไม่ให้พลาด: โจทย์ 3 ข้อที่ต้องตอบให้ได้ก่อนสั่งตัดสูท - สูทที่มี ‘Canvas’ คุ้มราคาจริงๆหรือไม่? (2/3)

Next
Next

สูท Bespoke จาก The Primary Haus - ช่างตัดสูทคนไทยสายเลือด Napoli