สูทจาก Sartoria Raffaniello - ช่างตัดสูทญี่ปุ่นสายเลือด Neapolitan Tailoring

DSC00180_label.jpg
“Raffaniello” เป็น Tailoring อีกเจ้าหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย ด้วยราคาที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับคุณภาพ ผมได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกับฝีมือของ Tailor เจ้านี้มาปีกว่าๆ แต่ก็พึ่งได้มีโอกาสตัดแจ็คเก็ตที่เป็น MTM หรือ Made-To-Measure ไปเมื่อต้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากรอสองเดือนนิดๆก็ได้แจ็คเก็ตเสร็จออกมาทั้งตัว สไตล์ของ Tailor เจ้านี้เป็นอย่างไร คุ้มราคาจริงๆมั้ย เดี๋ยวผมจะพาไปชำแหละกันในเวอร์ชั่นภาษาคนที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายครับ
Sartoria Raffaniello โดย Noriyuki Higashi เป็นช่างตัดสูทชาวญี่ปุ่นที่เคยเป็น Cutter อยู่ที่ Ring Jacket มาก่อน จากนั้นจึงได้ไปศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับ Neapolitan Tailoring ที่ประเทศอิตาลีกับ Antonio Pasariello และได้ชื่อ “Raffaniello” มา รวบรัดมาถึงปี 2017 ที่ Higashi ได้เปิดร้านเป็นของตัวเองเป็นครั้งแรกที่โอซาก้า ณ ตั้งแต่ตอนนั้น
แท็ก Raffaniello เย็บติดไว้ที่บริเวณด้านหน้าฝั่งซ้ายของซับใน

แท็ก Raffaniello เย็บติดไว้ที่บริเวณด้านหน้าฝั่งซ้ายของซับใน

การสั่งตัดแบบ MTM ของ Raffaniello ที่ประเทศไทย สามารถเข้าไปทำการวัดสัดส่วนตัวได้ที่ The Decorum BKK ตั้งอยู่ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ 5 การวัดตัวจะจัดการโดย Staff ที่ร้าน The Decorum เองหากไม่ได้เข้ามาตัดในช่วงที่ Higashi บินจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจัด Trunk Show ในกรุงเทพ 

การวัดสัดส่วนจะเริ่มจากการลองไซส์ต่างๆว่าตัวเราเหมาะกับสูทไซส์ไหนมากที่สุดจากสูทที่มีอยู่ที่ร้านเป็นตัวต้นแบบ จากนั้นจึงทำการเก็บหรือขยายสัดส่วนจากตัวต้นแบบนั้นให้ฟิตเข้ากับตัวเรา ไล่ตั้งแต่ช่วงคอ ความยาวไหล่ สัดส่วนอก หลัง เอว ขนาดแขน ความยาวแขน และสะโพก เราสามารถเลือกออปชั่นดีเทลเล็กๆน้อยๆเพิ่มเติมได้ เช่น ซับใน (Half Lining, Full Lining), ลักษณะของกระเป๋าหน้า, ลักษณะรังดุมที่แขน (Overlap, Kissing) เป็นต้น 

แจ็คเก็ตหรือสูทที่สั่งไปจะไม่มีการนำมาฟิตติ้ง แต่จะทำเสร็จมาทั้งตัวเลยหลังจากวัดสัดส่วนเราไปแล้ว 

จริงๆแล้วผมจะนำมาใส่เป็นชุดสูททั้งตัวแต่สั่งตัดไปเฉพาะแจ็คเก็ตเพียงอย่างเดียว เพราะส่วนตัวผมชอบ Silhouette กางเกงจาก Tailor อีกเจ้าหนึ่งมากกว่า ตอนนี้แจ็คเก็ตมาก่อนแต่กางเกงที่จะนำมาใส่เป็นสูทยังไม่เสร็จดีครับ เดี๋ยวเรียบร้อยทั้งตัวแล้วผมมารีวิวฉบับเต็มให้อีกรอบหนึ่งนะครับผม 
DSC00207_label.jpg
จุดประสงค์ในการออเดอร์สูทครั้งนี้คืออะไร?

จุดประสงค์ของการออเดอร์ครั้งนี้คือ ผมอยากได้สูทที่เอาไว้ ”ทำงาน” เพียงอย่างเดียว ดังนั้นลุคที่ผมอยากได้คือความเป็นทางการ ดูเป็นมืออาชีพ และน่าเชื่อถือ การตั้งจุดประสงค์ให้ชัดเจนก่อนตัดสูทว่าเราจะเอาสูทชุดนี้ไปใส่ในโอกาสไหนเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆเลยครับ เพราะมันจะเป็นตัวที่กำหนดทุกอย่างหลังจากนั้นทั้งหมดตั้งแต่ผ้าที่จะเลือกใช้ รายละเอียดบนสูท และ Tailor เจ้าไหนที่เหมาะ
ผ้า Fox Brothers ใน Bunch ผ้า “Fox Air” จะสังเกตเห็นลักษณะของผ้าที่เป็น High Twisted คือมีความ Open Weave มี Texture ที่เฉพาะตัว

ผ้า Fox Brothers ใน Bunch ผ้า “Fox Air” จะสังเกตเห็นลักษณะของผ้าที่เป็น High Twisted คือมีความ Open Weave มี Texture ที่เฉพาะตัว

ผ้าที่ผมเลือกเป็น Fox Brothers ใน Bunch ชื่อ “Fox Air” สี Charcoal หรือเทาเข้ม เป็นผ้า High Twisted Wool 100% ผมต้องขอสารภาพก่อนครับว่าผมมีใจให้ผ้า Fox Borthers มานานแล้ว เพราะ Texture การทอผ้าของ Fox มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมาก คือให้ความรู้สึกที่ Dry เรียกได้ว่าอยู่ในฝั่งที่ Dry ที่สุดในกลุ่มของผ้า High Twisted เลย เมื่อเอามือมาลูบผ้าแล้วจะรู้สึกถึงความสากที่ค่อนข้างชัด Texture ของผ้าไม่ได้ดูเรียบเนียนและไม่เงาวิบวับเมื่อโดนแสง แต่จะกรอบและเด้งเมื่อสัมผัสกับเนื้อผ้า เมื่อเรามองใกล้ๆมันจะมีความเทาที่ไม่ค่อยเสมอกัน บางจุดเทามาก บางจุดเทาน้อยกว่าหน่อย แต่มองไกลๆในระยะปกติเราจะมองไม่ออก 
และด้วยความที่เป็นผ้า High Twisted ผ้าสามารถทอให้มีน้ำหนักที่สูงขึ้นได้ เกิดการทิ้งตัวหรือการ Drape ที่สวยและสะอาดตา แต่ด้วยความที่เนื้อผ้าค่อนข้างโปร่ง เมื่อสวมใส่จริงจึงไม่ร้อน 
Fox Air จึงจัดว่าเป็นผ้าที่ “อร่อย” สำหรับผมอีก Bunch หนึ่ง
กระดุมทำจากเขาสัตว์ที่แขนแจ็คเก็ต 4 เม็ดแบบ Overlapping และมีระยะห่างจากปลายแขนถึงรังดุมเม็ดแรกอยู่ที่ 1.5”

กระดุมทำจากเขาสัตว์ที่แขนแจ็คเก็ต 4 เม็ดแบบ Overlapping และมีระยะห่างจากปลายแขนถึงรังดุมเม็ดแรกอยู่ที่ 1.5”

โดยส่วนตัว ถึงแม้จะต้องตัดสูทที่เป็นทางการ แต่ผมก็ไม่ได้อยากได้สูทที่มีความ Formal จนดูน่าเบื่อ ทำให้ Raffaniello เป็นหนึ่งใน Tailor เจ้าหน่ึงที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผม เพราะด้วยระยะเวลาการรอที่ไม่ได้นานมากประมาณสองเดือนกว่าๆ (นานที่สุดไม่เกินสามเดือน) บวกกับ House Cut ที่ให้ลุคค่อนข้างจะ Formal แต่ก็ยังมีความ Neapolitan ให้รสชาติของความเป็นอิตาเลี่ยนอยู่จึงไม่ได้ดูเรียบร้อยมากเกินไปสักเท่าไหร่ 
บริเวณด้านหลังของแจ็คเก็ตด้านใน เป็น Half Lining สังเกตได้จากพื้นที่ซับในที่มีอยู่เพียงบริเวณหลังด้านบนเท่านั้น

บริเวณด้านหลังของแจ็คเก็ตด้านใน เป็น Half Lining สังเกตได้จากพื้นที่ซับในที่มีอยู่เพียงบริเวณหลังด้านบนเท่านั้น

แจ็คเก็ตจาก Raffaniello เป็น Full Canvas ทั้งตัว รายละเอียดบนตัวแจ็คเก็ตผมเลือกกระดุมที่แขน 4 เม็ดแบบ Overlap (เม็ดกระดุมซ้อนกันเป็นชั้น) กระเป๋าหน้าล่างซ้ายขวาเป็นแบบ Jetted Pocket ไม่มีฝาปิดกระเป๋า กระเป๋าที่หน้าอกเป็นแบบ Barchetta หรือกระเป๋ารูปทรงเรือที่มีลักษณะโค้งเอียงขึ้น ปกเป็น Single Stitching เพราะต้องการความเป็นทางการ ซับในเป็น Half Lining หรือเปิดช่วงหลังไว้ไม่มีซับใน ช่วยในการระบายอากาศทำให้สามารถใส่ในสภาพอากาศร้อนๆของเมืองไทยได้สบายขึ้น
Barchetta Pocket หรือกระเป๋าหน้าอกรูปทรงเรือ และการตีเส้น Dart ที่เริ่มจากด้านล่างของตัวกระเป๋า

Barchetta Pocket หรือกระเป๋าหน้าอกรูปทรงเรือ และการตีเส้น Dart ที่เริ่มจากด้านล่างของตัวกระเป๋าอก

คัตติ้งของ Raffaniello จะเป็นการ “โย้หน้า” หรือผ้าชิ้นหน้าของแจ็คเก็ตจะยาวกว่าข้างหลังนิดหน่อย มีการตีสาบหรือ Dart หน้าซึ่งจะไปสิ้นสุดที่ด้านบนของปลายเปิดกระเป๋า Jetted Pocket ของทั้งสองฝั่ง เป็นคาแรคเตอร์ที่พบเจอได้ปกติในสไตล์ของ Neapolitan Tailoring
การต่อไหล่ หรือการเย็บแขนแจ็คเก็ตเข้ากับตัวบอดี้แบบ Spalla Camicia ของ Raffaniello

การต่อไหล่ หรือการเย็บแขนแจ็คเก็ตเข้ากับตัวบอดี้แบบ Spalla Camicia ของ Raffaniello

ลักษณะของไหล่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญ เพราะมันสามารถส่งผลต่อลุคของแจ็คเก็ตทั้งหมดได้ การต่อปลอกแขนเข้ากับตัวแจ็คเก็ตของ Raffaniello ที่ผมเลือกเป็นการต่อแบบ Spalla Camicia หรือการต่อแขนแบบเสื้อเชิ้ตในสไตล์ Neapolitan 
โดยปกติแล้วหากเป็น Neapolitan Tailoring ที่เป็น Soft Tailoring จัดๆ การต่อแบบนี้จะไปค่อนข้าง Extreme คือไม่มีการเสริมอะไรเข้าไปเลย เป็นการต่อแขนแบบเสื้อเชิ้ตที่แท้ทรู ทำให้การเย็บจับผ้าเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นจีบที่บริเวณหัวแขนจะเห็นได้ชัดเจน ในขณะที่การต่อแขนของ Raffaniello จะมีจีบเห็นได้พอกล้อมแกล้ม และมีการเสริมโครงสร้างด้านในเพิ่มจากตะเข็บที่หัวไหล่ให้ Extended เลยตะเข็บที่เย็บไหล่จริงออกมาเล็กน้อย เกิดเป็นความป่องออกมานิดนึงซึ่งผมคิดว่าได้รสชาติที่คล้ายๆกับ Neapolitan Tailor เจ้าดังอีกเจ้าหนึ่งชื่อ Cesare Attolini อยู่ ได้ความรู้สึกไม่ดู Casual จนเผ็ดร้อนแต่ได้กลิ่นที่อร่อยติดมาแบบพอหอมปากหอมคอ ลุคทั้งหมดที่ได้จึงดูมีความเป็นทางการแต่มีกลิ่นอายของ Neapolitan อยู่
บริเวณบ่ามีการเสริมโครงสร้างเพิ่มเข้าไปเบาๆ รู้สึกถึงการมีอยู่ของชิ้นบ่ามากกว่า Orazio Luciano ที่ผมคุ้นเคยแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าหนัก ก็จะได้ลุคที่คลีนมากขึ้น ให้ความรู้สีกถึงความเป็นทางการที่เพิ่มตามมา
Notch Lapel ทำออกมาได้สวยงามชดช้อย กับขนาดปกที่ 4” ที่ใหญ่สะใจมาก

Notch Lapel ทำออกมาได้สวยงามชดช้อย กับขนาดปกที่ 4” ที่ใหญ่สะใจมาก

โครงสร้างของแจ็คเก็ตทำขึ้นมาได้ดีครับ เป็น Canvas ที่ใส่แล้วไม่ร้อน ไม่ทึบ ไม่อับ และไม่หนัก คุณภาพของตัว Canvas เองนี่มีผลต่อตัวแจ็คเก็ตในหลายๆด้านเลย หาก Canvas ไม่ดีการขึ้นทรงก็จะเกิดขึ้นได้ไม่สวย ไม่เนียน และ Canvas ที่ทึบก็จะส่งผลทำให้เวลาเราสวมแจ็คเก็ตจะรู้สึกถึงน้ำหนักบางอย่างที่ห้อยอยู่บนตัว และความสามารถในการะบายอากาศก็จะไม่ดีเท่ากันด้วยครับ ในเรื่องนี้ Raffaniello สามารถทำออกมาได้ดีเลย
“3 Roll 2” ของปกแจ็คเก็ตที่มีการม้วนออกมาได้เนียนสวยสะอาดตา

“3 Roll 2” ของปกแจ็คเก็ตที่มีการม้วนออกมาได้เนียนสวยสะอาดตา

ลักษณะของปกเป็น 3 Roll 2 ที่การม้วนตัวของปกทำออกมาได้สวยงามชดช้อยมาก ปกจะม้วนไปจบอยู่บริเวณที่เกือบจะถึงกระดุมเม็ดที่ 2 พอดี เวลาเราใส่แจ็คเก็ตแบบไม่ได้ติดกระดุมเม็ดที่ 2 ก็จะยังเห็น Roll ที่สวยงามนี้อยู่ ขนาดของปกเองค่อนข้างใหญ่ซึ่งก็ใหญ่ได้สะใจผมมาก
ก่อจะตัดสินใจสั่งตัดกับ Raffaniello ผมติดอยู่นิดเดียวตรงที่ว่า ด้วย House Cut ของเค้า ลุคที่ออกมาเมื่อผมใส่แล้วจะให้ Silhouette ที่ “จะดูเป้ะและเรียบร้อยเกินไป” รึเปล่า ด้วยความที่ผมคุ้นเคยกับความ Extreme และชอบ Neapolitan จ๋าๆที่เอกลักษณ์ค่อนข้างจัดจ้านและชัดเจนที่ผมให้คำนิยามไปเองคนเดียวของผมว่า "ดูชุ่ยแต่สวย" ผมเลยแอบกลัวอยู่ในใจว่าแจ็คเก็ตที่ได้จะไม่ใช่ลุคแบบที่ผมวาดไว้ในหัว
หากท่านผู้อ่านอยากทราบว่าความชุ่ยแต่เนี้ยบที่ผมมโนขึ้นมาเองนี้เป็นอย่างไร ลองตามไปอ่านอีกบทความหนึ่งเกี่ยวกับ Orazio Luciano ได้ที่นี่เลยครับ
เมื่อได้รับแจ็คเก็ตมาและลองใส่ ก็ไม่ผิดจากที่คาดไว้เลยครับ ว่ามันเรียบร้อยจริงๆ
DSC00138_label.jpg
ด้วยโจทย์ที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่แรกในการตัดสูทตัวนี้ คือต้องการความเป็นทางการสำหรับทำงานที่ Formal ซึ่งตอบโจทย์ผมได้ดี แต่ก็มีบางจุดที่ผมยังกังวลอยู่
โดยรวมฟิตติ้งด้านหน้าออกมาสวย ช่วงปกคอแจ็คเก็ตกอดรอบคอได้ดี ผ้าชิ้นหน้าทิ้งตัวได้คลีน ช่วงแขนทิ้งตัวได้สะอาดดี บริเวณด้านหลังมีผ้าเหลืออยู่บ้างซึ่งผมไม่ได้ซีเรียสมากเพราะต้องการความสบายในการใส่ ผมคิดว่าหากใส่สูทที่ขยับตัวได้ไม่สบายแต่เข้ารูปมากกว่า เทียบกับสูทที่ใส่สบายแต่มีผ้าเหลือนิดๆหน่อยๆ ยังไงผมเลือกแบบหลังมากกว่าครับ เพราะสิ่งที่เราต้องโฟกัสคือการแต่งตัวให้ดูดีและเหมาะสม “เพื่อ” คุยงาน การใส่สูทที่ส่งผลให้เราขยับตัวได้ลำบากขึ้นจะเป็นส่วนที่ทำให้เราไม่มีสมาธิกับสิ่งที่เราต้องทำจริงๆไปเสียมากกว่า 
ฝั่งขวาของแจ็คเก็ต เนียนสวยและสะอาด ช่วงแขนทิ้งตัวได้ดี มีผ้าเหลือด้านหลังไม่เยอะมาก กำลังสวย

ฝั่งขวาของแจ็คเก็ต เนียนสวยและสะอาด ช่วงแขนทิ้งตัวได้ดี มีผ้าเหลือด้านหลังไม่เยอะมาก กำลังสวย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผ้าที่ดูเหลือบริเวณหลังไม่ใช่ปัญหา เพราะปัญหาจริงๆผมคิดว่าเกิดมาจากชิ้นไหล่ซ้ายของแจ็คเก็ตที่ Extended ออกมาเลยไหล่จริงเกินไปทำให้ "ไหล่ซ้ายด้านหลัง" ตก เกิดการดึงผ้ามาจากด้านหลังด้วยหัวไหล่จริงที่อยู่หุบเข้ามาในโซนของปลายบ่าของแจ็คเก็ต บวกกับผ้าชิ้นหลังที่ค่อนข้างเหลืออยู่แล้วทำให้ด้านหลังไม่ค่อยสะอาด 
ด้วยความที่ผมฟิตติ้งจากตัวลองไซส์ 52 เพราะสัดส่วนช่วงอกและแขนได้ แต่เอาช่วงไหล่แบบไซส์ 50 อาจจะทำให้ Higashi ตัดระยะผ้าชิ้นหลังเผื่อไว้ให้เหลือ รวมทั้งความยาวและความสูงของช่วงไหล่ซ้ายกับขวาผมไม่เท่ากันทำให้ปัญหานี้เกิดได้ชัดเจน ถ้าตอนฟิตติ้งช่วงไหล่ทั้งสองข้างถูกเก็บเข้าสั้นกว่านี้สักหน่อยก็จะสวยและคลีนได้มากกว่านี้อีก
เปรียบเทียบง่ายๆ MTM ก็คือ การตัดสูทที่ขึ้นมาจากแพทเทิร์นของ RTW แต่ทำการปรับสัดส่วนหลายๆจุดมาจากทาง Tailor เลย แทนที่เราจะเอาไปปรับเองแบบ RTW ซึ่งข้อจำกัดของ MTM ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับ Tailor ว่าให้ออปชั่นการปรับเปลี่ยนมามากน้อยขนาดไหน
ปกติการตัดแบบ MTM ของ Raffaniello ในกรณีไม่ได้มาตัดในช่วง Trunk Show จะไม่มีการทำ "ฟิตติ้งแรก" แบบเอาเข็มมากลัดและค่อยๆเก็บเกลี่ยผ้าส่วนเหลือบนตัวเราก่อนที่จะส่งแบบทั้งตัวที่กลัดเก็บผ้าไปแล้วให้กับช่างสูทปรับแก้ แต่เมื่อวัดตัวและกลัดเข็มบวกลบสัดส่วนจากไซส์ตัวลองเสร็จแล้ว Tailor เค้าจะขึ้นเป็นตัว Final ออกมาให้เลย (เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับการทำ MTM ของ Tailor หลายๆเจ้า) โอกาสที่ตัดมาแล้วจะคลาดเคลื่อนจึงมีอยู่ ฉะนั้นหากเกิด Error และต้องนำมา Alteration ต่อหลังจากได้รับแจ็คเก็ตมา เช่น เก็บเอวหรือผ้าส่วนเกินบางจุดที่ "อยู่ ในขอบเขตที่ทำได้" จึงไม่ใช่เรื่องแปลก (แต่ในใจผมก็อยากให้มันเป้ะกว่านี้)
ข้างซ้ายจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าความยาวช่วงไหล่ซ้ายของผมสั้นกว่าฝั่งขวา ทำให้ไหล่ตก ส่งผลให้ช่วงแขนและด้านหลังไม่คลีนเท่าฝั่งขวาจากผ้าที่เหลือเยอะกว่า

ข้างซ้ายจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าความยาวช่วงไหล่ซ้ายของผมสั้นกว่าฝั่งขวา ทำให้ไหล่ตก ส่งผลให้ช่วงแขนและด้านหลังไม่คลีนเท่าฝั่งขวาจากผ้าที่เหลือเยอะกว่า

ผมค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับเรื่องผ้าที่เหลือด้านหลัง ตอนแรกที่ได้รับแจ็คเก็ตมาด้านหน้าก็สะอาดดี แต่เมื่อเช็คด้านหลังแล้วมีผ้าเหลือ ทิ้งตัวได้ไม่สะอาด และไหล่ที่ตกเยอะเกินไปหน่อย ผมจึงได้เข้าไปคุยกับทางร้าน The Decorum และตอนนี้แจ็คเก็ตได้ถูกส่งกลับไปที่ญี่ปุ่นเพื่อเก็บผ้าส่วนที่เหลือ หลังจากแก้เสร็จแล้วผมจะมารีวิวฉบับเต็มจริงๆอีกครั้งหนึ่งนะครับ
โดยสรุปในเรื่องของฟิตติ้ง แจ็คเก็ตตัวนี้ก็ยังไม่ได้ผ่านช่วง Break-In หรือผ่านการสวมใส่หลายๆครั้งมาก่อน โดยเฉพาะผ้า Open Weave แบบ Fox Air ซึ่งโดยธรรมชาติผ้าจะมีความแข็งและเด้ง การใส่ในครั้งแรกๆก่อนที่จะ Break-In เสร็จผ้าจะดูแข็งและทื่อ ดูเป็น Loose Fit ไม่ค่อยเข้ากับรูปร่างเราสักเท่าไหร่ จึงต้องการการระยะเวลา Break-In มากกว่าชาวบ้าน หลังจากใส่ไปเรื่อยๆแจ็คเก็ตมันจะค่อยๆเข้า Shape กับสัดส่วนของเราและสวยมากขึ้น
DSC00235_label.jpg
กลับมาที่ House Cut ของ Raffaniello ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงยังมากวนใจผมทั้งๆที่แจ็คเก็ตตัดออกมาได้ตรงตามที่ผมต้องการ ต้องขออนุญาตบอกท่านผู้อ่านก่อนว่าบทความหลังจากนี้จะเป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ และ Reference ของผมเพียงคนเดียวจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝีมือของ Tailor แต่อย่างใด
ปกติเวลาผมใส่แจ็คเก็ตตัวใหม่ที่ผมได้รับมา มันจะมีความรู้สึกที่แบบ “เชี่ย อย่างเด็ด” “แบบนี้แหละใช่” หรือไม่ก็ “แบบนี้ไม่น่าจะรอด” ไปเลย แต่สำหรับแจ็คเก็ตตัวนี้พอผมใส่แล้วรู้สึกว่า “มันก็สวยดีนะ” เป็นความรู้สึกกลางๆซึ่งผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน สาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะ Silhouette ของแจ็คเก็ตที่ไม่ได้ร้อนแรงจัดจ้านแบบที่ผมคุ้นเคยกับสาย Neapolitan จ๋าๆหรือ Florentine Tailoring
DSC00178_label.jpg
หากคิดในอีกมุมหนึ่ง ความชอบส่วนตัวของผมอาจจะไม่เหมาะกับ Raffaniello ก็เป็นไปได้ แต่เรื่องนี้จะตอบได้จริงๆก็ต่อเมื่อผมได้ใช้เวลาอยู่กับแจ็คเก็ตตัวนี้ไปอีกหลายๆเดือนเสียก่อน จนกระทั่งได้ทำความรู้จักและเข้าใจกับสไตล์ของแจ็คเก็ตตัวนี้ได้อย่างแท้จริง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากท่านผู้อ่านชอบ House’s Style ของ Raffaniello ผมแนะนำว่า “ลุยเลยครับ” เราจะได้แจ็คเก็ตจาก Tailor ที่มีความน่าเชื่อถือ ตัดเย็บออกมาได้สวย เนี้ยบ งานดี ราคาสมเหตุสมผล และใช้เวลาในการรอไม่นาน แต่ผมอยากแนะนำเป็นข้อควรระวังนิดนึงว่า เมื่อเราไปลองฟิตติ้งตัวลองจริงๆแล้วต้องมีการปรับบวกลบเยอะ เช่นมีการข้ามไซส์ในหลายๆส่วนแบบผม  อาจจะมี Room Of Error เกิดขึ้นได้จากข้อจำกัดของการสั่งตัดแบบ MTM ครับ ถ้ากังวลเรื่องนี้ผมแนะนำว่าการไปตัด Bespoke เลยก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่าและจบกว่าเหมือนกัน
Previous
Previous

Lifetime Relationship: การเลือกช่างตัดสูท ก็ไม่ต่างกับการเลือกคู่ชีวิต (สักเท่าไหร่)

Next
Next

รีวิวแจ็คเก็ต Orazio Luciano “La Vera Sartoria Napoletana” - ช่างตัดสูทสายเลือดแท้จากนาโปลี